ดูแลมารดาหลังคลอด

การดูแลมารดาหลังคลอด ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย หรือ เรียกว่า การอยู่ไฟ เมื่อหลังจากการคลอดบุตร จะทำให้ธาตุในร่างกาย ทั้ง 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เกิดการเสียสมดุล โดยเฉพาะธาตุไฟ จะส่งผลให้มารดา ไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลียหรืออาจมีอาการคัดตึงเต้านมร่วมด้วย ซึ่งการดูแลมารดาหลังคลอด เป็นการฟื้นฟูสุขภาพมารดาจะช่วยให้ ร่างกายอบอุ่น ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ขับน้ำคาวปลา ลดอาการคัดตึงเต้านม ทำให้ธาตุทั้ง 4 ในร่างกายกลับมาอยู่ในภาวะสมดุล

  • ใช้ไฟเพื่อก่อให้เกิดความร้อนแก่ร่างกาย หรือบริเวณที่ต้องการรักษา
  • โดยทั่วไปใช้กับมัดกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ เช่น หน้าท้อง หน้าอก แผ่นหลัง
  • หรือใช้เน้นรักษาเฉพาะจุด เช่น ข้อมือ หน้าเข่า หลังเข่า

** โดยมากใช้เผายาบริเวณหน้าท้อง (รอบสะดือ) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของเส้นประธานสิบไปตามร่างกาย

สามารถทำดูแลมารดาหลังคลอด ได้เมื่อใด

  1. มารดาคลอดธรรมชาติ(คลอดเอง) หลังจากคลอดแล้ว 7-10 วันสามารถทำได้เลย ถ้าไม่มีอาการอ่อนเพลียจากการคลอดบุตร และแผลบริเวณช่องคลอดแห้งสนิทดี
  2. มารดาผ่าตัดคลอด สามารถทำได้หลังจากการผ่าตัดคลอดแล้ว 30 – 45 วัน หรือ จนกว่าแผลผ่าตัดจะหายและแห้งสนิทดี

การอยู่ไฟจะได้ผลดี ต้องทำไม่เกิน3 เดือนหลังจากคลอดบุตร การทำหลังคลอดนิยมทำ 5-10 วันต่อเนื่อง

ประโยชน์ของการดูแลมารดาหลังคลอด

  1. ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่
  2. ช่วยขับน้ำคาวปลา
  3. ช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
  4. ช่วยลดอาการคัดตึงเต้านม
  5. ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ลดอาการอาการอ่อนเพลีย
  6. ช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องกระชับ หน้าท้องยุบ

ขั้นตอนการดูแลมารดาหลังคลอด

  1. นวดไทยแบบราชสำนัก : มารดาหลังคลอดมักมีอาการ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาจเนื่องจากการคลอดบุตรและการดูแลบุตร ส่วนมากจะมีอาการปวด บ่า คอ หลัง การนวดจะช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ลดอาการคัดตึงเต้านม
  2. การประคบสมุนไพร : การประคบจะใช้ความร้อนที่พอดี ไม่ร้อนมากเกินไป และไม่ประคบด้วยแรงหนักเกินไป การประคบจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้ดีขึ้น ช่วยลดอาการบวม ลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ลดอาการคัดตึงเต้านม
  3. การทับหม้อเกลือ : เป็นการใช้เกลือเม็ดใส่ในหม้อดินเผาตั้งไฟให้ประทุร้อน แล้ววางบนสมุนไพร และใบพลับพลึง แล้วห่อด้วยผ้า จากนั้นนำหม้อเกลือนาบบริเวณหน้าท้อง ต้นขา หลังช่วงล่าง จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทำให้กล้ามเนื้อ หน้าท้องกระชับ หน้าท้องยุบ และมีงานวิจัยแล้วว่าการทำทับหม้อเกลือ ช่วยคลายกล้ามเนื้อ และลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้
  4. การอบไอน้ำสมุนไพร : เป็นการเข้ากระโจม เพื่อให้ไอน้ำสัมผัสตัวให้มากที่สุด ตัวยาสมุนไพรประกอบด้วยตัวยาหลายชนิด ความร้อนจากไอน้ำจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ช่วยขับน้ำคาวปลา ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกลิ่นสมุนไพรช่วยเพิ่มความสดชื่น หายใจโล่ง สบายตัวมากยิ่งขึ้น
  5. การนั่งถ่าน : เป็นวิธีการรมบริเวณฝีแผลเย็บของมารดาหลังคลอด โดยการโรยผงยาสมุนไพรลงบนถ่านที่ติดไฟที่อยู่ในหม้อทะนน แล้วปิดปากหม้อด้วยกะลาตาเดียว นำไปวางด้านใต้ที่นั่ง ที่เจาะตรงกลาง ความร้อนและควันสมุนไพรจะพุ่งขึ้นมาสัมผัสบริเวณแผลฝีเย็บ การนั่งถ่านช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ทำให้แผลแห้งไม่อับชื่น

ข้อห้ามที่มารดาไม่สามารถทำหลังคลอดได้

  1. มีไข้เกิน 37.5 องศา
  2. แผลผ่าตัด ยังไม่แห้งสนิทดี
  3. มีอาการอ่อนเพลีย
  4. รับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ
  5. แพทย์แจ้งงว่า มดลูกลอยตัว มดลูกยังไม่เข้าอู่

ดูแลมารดาหลังคลอด

นอกจากการดูแลมารดาหลังคลอดตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว มารดาควรจะ รับประทานอาหารที่มีรสร้อน  เพื่อช่วยบำรุงธาตุไฟ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด เช่น ขิง พริกไทย กะเพรา ขมิ้นชัน เป็นต้น รับประทานอาหารบำรุงน้ำนม เช่น แกงเลียงหัวปลี ไก่ผัดขิง หลีกลี่ยงอาหารรสเย็น เช่น ฟัก แตงโม น้ำแข็ง เพราะอาหารรสเย็นจะไปลดธาตุไฟในร่างกาย  ควรดื่มน้ำอุ่น 2-3 ลิตร/วัน และที่สำคัญพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายกลับมาอยู่ในภาวะสมดุล

อ้างอิง
บทความวิชาการ “การอยู่ไฟคืออะไร” : สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
จัดทำโดย นางสาว สุนันทา แหล่งสะท้าน : แพทย์แผนไทยประยุกต์ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล