ประวัติการกดจุดไทย

การแพทย์แผนไทย เป็นภูมิปัญญาซึ่งบรรพบุรุษของไทยได้สั่งสมสืบทอดกันมายาวนาน มีความพยายามในการธำรงรักษาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติมาตั้งแต่อดีต มีการรวบรวมตำรายาที่ดีและจารึกไว้ในแผ่นหิน ประดับตามผนังศาลาวัดสำคัญต่างๆ เมื่อเริ่มมีการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาในประเทศไทย การแพทย์แผนไทยยังคงมีบทบาทในการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งเป็นการรักษาและการป้องกันโรคก่อนจะเป็นหนักหรือเป็นเรื้อรังที่รักษาได้ยาก โดยมีการพัฒนาการแพทย์แผนไทยยุคใหม่ที่เรียกว่า “การแพทย์แผนไทยประยุกต์” คือการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาประยุกต์เพื่ออธิบายและพัฒนาการแพทย์แผนไทย

ซึ่งการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะรวบรวมและประมวลข้อมูลตามแนวคิดและทฤษฎีการแพทย์แผนไทยว่าด้วยเรื่องธาตุ เช่น คัมภีร์โรคนิทาน คัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย คัมภีร์ธาตุวิภังค์ คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ คัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งกล่าวไว้ว่าร่างกายมนุษย์ประกอบขึ้นจากกองธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมและธาตุไฟ โดยมนุษย์แต่ละคนจะมีส่วนประกอบธาตุต่างๆที่ไม่เหมือนกัน แต่จะมีธาตุใดธาตุหนึ่งเป็นใหญ่ เรียกว่าธาตุเจ้าเรือน ของคนๆนั้น แต่ธาตุเจ้าเรือนซึ่งมีมาแต่เกิดจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ปัจจัยที่มีอิทธิพลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ อายุ ฤดูกาล กาลเวลา ถิ่นที่อยู่และมูลเหตุการเกิด โรคที่เกิดจากพฤติกรรม หากเกิดความไม่สมดุลของธาตุที่เป็นองค์ประกอบขึ้นเมื่อใด ก็จะเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยขึ้น เมื่อแพทย์แผนไทยประยุกต์ให้การวินิจฉัยโรคแล้ว จะวางแผนการบำบัดรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้ผู้ป่วย ซึ่งประกอบด้วยวิธีการดังนี้

การใช้ยาสมุนไพร อาจเป็นการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ยาต้มหรือจ่ายยาสำเร็จรูปที่ผลิตไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยาลูกกลอน ยาเม็ด ยาแคปซูล เป็นต้น

ด้วยการกดจุดไทยรักษาโรค คือการตรวจประเมิน การวินิจฉัย การบำบัด การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ และฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยวิธีการกดจุดพื้นฐาน และสัญญาณมือ หรือการใช้ยาแผนไทยในการรักษาโดยแพทย์แผนไทยประยุกต์กลุ่มอาการที่สามารถรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ได้แก่กลุ่มการปวดบริเวณต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ, คอแข็งตึง, ปวดต้นคอ, คอตกหมอน, ปวดสะบัก/บ่า, ปวดไหล่, หัวไหล่ติด, ปวดแขน,ข้อศอก, ข้อมือ, ข้อนิ้วมือ, ปวดหลัง, ปวดสะโพก, ปวดขา, ปวดเข่า, เข่าบวม, เหน็บชา, ตะคริวน่อง, ปวดกลุ่มการเจ็บป่วยอื่นๆเช่น ท้องผูก, นอนไม่หลับ, คัดจมูก, หอบหืด, ภูมิแพ้, อัมพฤกษ์, อัมพาต เป็นต้น

ซึ่งการกดจุดไทยรักษาโรค มีประวัติยาวนานร่วมด้วยกับการแพทย์แผนไทยตั้งแต่สมัยพุทธกาล จากบรมครู “ชีวก โกมารภัจจ์ชื่อหมอใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย จากประเทศอินเดียซึ่งเผยแพร่มาประเทศไทยควบคู่กับศาสนา การรักษาด้วยการกดจุดไทยรักษาโรคและยา ซึ่งสมัยอยุธยามีธรรมเนียมศักดินา หมอกดจุดจะมีศักดิ์เป็น หลวงราชรักษาและหลวงราโช จนสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 มีการจัดตั้งกรมหมอหลวงและหมอราษฎร์ แต่ในรัชกาลที่ 6-8 ได้มีการยกเลิกวิชาการแพทย์แผนไทย จากนั้นก็ได้มีการฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยขึ้นมาอีกครั้ง ในรัชกาลที่ 9 โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ เป็นผู้ก่อตั้ง โรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ในปีพ.ศ. 2525 และพัฒนาหลักสูตร จนเป็นหลักสูตรปริญญาตรีแพทย์แผนไทยประยุกต์ ใน 10 มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ได้เชิญ อาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ มาสอนวิชาการกดจุดไทยรักษาโรค ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานเกี่ยวกับการนวดไทย รวมมวยไทย และดาบไทย มาพัฒนาจนมาเป็นศาสตร์กดจุดไทยรักษาโรค (นวดราชสำนัก) ซึ่งเป็นศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่นำมารักษาคนไข้ในปัจจุบัน(มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯ อายุรเวทวิทยาลัย และ โรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์[นธพท], 2555)

การกดจุดไทยรักษาโรค คือการกดจุดราชสำนัก หมายถึงการตรวจประเมิน การวินิจฉัย การบำบัดรักษา การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพและการฟื้นฟูสุขภาพด้วยวิธีการกดจุดพื้นฐาน และการกดจุดสัญญาณด้วยมือโดยแพทย์แผนไทยประยุกต์ การนวดแบบราชสำนัก หรือการกดจุดราชสำนักเป็นการนวดที่ใช้ในพระราชวัง ดังนั้นท่าต่างๆจึงต้องสุภาพ ใช้นิ้วมือและฝ่ามือนวดเท่านั้น และจะคำนึงถึงความสวยงามในท่วงท่าของการนวด การลงน้ำหนักมืออย่างนุ่มนวลในทิศทางของแรงอย่างถูกต้อง “หน่วง เน้น นิ่ง” แต่มีพลังในการนวด โดยกดไปตามเส้นพื้นฐานและจุดสัญญาณทั่วร่างกาย

โดยการนวดแนวเส้นพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการกดจุดสัญญาณเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการรักษา ก่อนทำการนวดผู้นวดจะคลำชีพจรที่ข้อมือและหลังเท้าข้างเดียวกันเพื่อพิจารณาการเต้นของชีพจรทั้งสองแห่งที่เรียกว่า “ลมเบื้องสูงและลมเบื้องต่ำ” เสียก่อนว่าเสมอกันหรือไม่ จากนั้นเริ่มนวดตั้งแต่ใต้เข่าลงมาหาข้อเท้าหรือจากต้นขาลงมาถึงเท้า ซึ่งผู้รับบริการนวดจะอยู่ในท่านั่ง นอนหงาย หรือนอนตะแคงเท่านั้น ไม่ต้องนอนคว่ำ ซึ่งหลักการกดจุดรักษาจะเป็นการบังคับเลือดลมไปเลี้นงในส่วนที่ต้องการโดยประโยชน์ของการรักษากดจุดราชสำนัก มีหลากหลายอาทิเช่น ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนของเลือด น้ำเหลือง และ ระบบประสาทให้ทำงานดีขึ้น เพื่อกล้ามเนื้อคลายตัวดีขึ้น ปรับอวัยวะต่างๆฟื่นฟูให้แข็งแรงขึ้นอีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยที่เกิดจากภาวะผิดปกติ เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นต้น

ขั้นตอนการกดจุดไทยรักษาโรค

  • ค้นหาสาเหตุของโรคด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย
  • วินิจฉัยโรค
  • กดจุดรักษา
  • ประเมินผลการรักษา
  • ให้คำแนะนำ
  • นัดการรักษาในครั้งถัดไป

องค์ประกอบของการกดจุดไทยรักษาโรค

การกดจุดรักษาโรคหลักๆแบ่งเป็นสองประเภทคือ

  • การกดแนวเส้นพื้นฐาน
  • การกดจุดสัญญาณ

การในจุดต่าง ๆ ของราชสำนัก เป็นการการกดแนวเส้นพื้นฐานเพื่อนำเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่จะทำการรักษา เรียกว่า “การกดแนวเส้นพื้นฐาน” มี 5 ตำแหน่ง

การกดพื้นฐานบ่า คือ การกดบริเวณบ่าทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้กล้ามเนื้อที่เกร็งเกิดการอ่อนตัวและทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณบ่าดีขึ้น

การกดพื้นฐานแขน คือ การกดบริเวณแขนด้านใน จากต้นแขนไปจนถึงข้อมือ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปทั่วแขน

การกดพื้นฐานหลัง คือ การกดในแนวข้างกระดูกสันหลังทั้ง 2 ข้าง จากบั้นเอวถึงต้นคอและจากต้นคอลงมาถึงบั้นเอว เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณกระดูกสันหลังดีขึ้น

การกดพื้นฐานขา คือ การกดตามแนวกระดูกขาด้านข้าง จากหน้าแข้งลงไปถึงเท้า และจากเหนือเข่าขึ้นไปจนถึงต้นขา และกลับมือกดด้านล่างของขา จากต้นขาถึงข้อเท้า

การกดพื้นฐานท้อง คือ การนำเลือดมาเลี้ยงบริเวณหน้าท้อง ให้เส้นท้องหย่อน คลายกล้ามเนื้อเพื่อกดสัญญาณท้องแต่ละจุด

การกดจุดสัญญาณท่านอน

  • การนวดกดจุดสัญญาณหลัง
  • การนวดกดจุดสัญญาณหลัง
    (รวมเอว – สะโพก)
  • การนวดกดจุดสัญญาณท้อง
  • การนวดกดจุดสัญญาณแขน ด้านนอก
  • การนวดกดจุดสัญญาณแขน ด้านใน
  • การนวดกดจุดสัญญาณขา ด้านนอก
  • การนวดกดจุดสัญญาณขา ด้านใน
  • การนวดกดจุดสัญญาณเข่า
  • การนวดกดจุดสัญญาณข้อเท้า
  • การนวดกดจุดสัญญาณข้อนิ้วเท้า

การกดจุดสัญญาณท่านั่ง

  • การนวดกดจุดสัญญาณศีรษะ ด้านหน้า
  • การนวดกดจุดสัญญาณศีรษะ ด้านหลัง
  • การนวดกดจุดสัญญาณจุดจอมประสาท
  • การนวดกดจุดสัญญาณหู
  • การนวดกดจุดสัญญาณหัวไหล่
  • การนวดกดจุดสัญญาณหลัง
    (สัญญาณ 4 สัญญาณ 5)
  • การนวดกดจุดสัญญาณแขน ด้านนอก
  • การนวดกดจุดสัญญาณแขน ด้านใน
  • การนวดกดจุดสัญญาณข้อมือ
  • การนวดกดจุดสัญญาณใจกลางฝ่ามือ
  • การนวดกดจุดสัญญาณข้อนิ้วมือ

อาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ

อาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ เป็นผู้วางรากฐานการสอนวิชาหัตถเวชกรรมแผนไทย (การนวดไทยแบบราชสำนัก) อาจารย์เกิด ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2471 ภูมิลำเนาเดิม มีบิดาชื่อ นายอ๊ะ แซ่เล้า มารดาชื่อ นางกี่ แซ่เล้า

อาจารย์มีวุฒิการศึกษา จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จังหวัดสุพรรณบุรี บวชเรียนนักธรรมเอก วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โดยอาจารย์มีความรู้ทางการแพทย์แผนไทยจากบรรพบุรุษ สำหรับที่มาของความรู้ทางการแพทย์แผนไทยจากบรรพบุรุษ สำหรับที่มาของความรู้เกี่ยวกับนวดไทยแบบราชสำนัก ได้จากคำบอกเล่าสืบทอดมาว่า

อาจารย์เรียนรู้ระเบียบและวิธีการนวดในราชสำนักเพื่อการรักษาโรคจากอาจารย์ต่อไปนี้

  • ท่านอาจารย์นายแพทย์กรุด ลูกศิษย์หลวงวาโย
  • ท่านอาจารย์หมอชิต เดชพันธ์ บุตรชายคนเล็กของหมออิน ซึ่งเป็นหมอนรัชสมัยของพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับสมญานามว่า หมออินเทวดา เนื่องจากเป็นผู้มีอัจฉริยะในด้านการนวด ไม่ว่าท่านจะลงมือนวดรักษาโรคให้กับผู้ใด ผู้นั้นมักจะหายได้อย่างง่ายดายทุกรายเหมือนเทวดามาปัดเป่า ท่านได้เคยถวายการนวดในราชสำนักในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยอาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากอาจารย์หมอชิต เดชพันธ์ อย่างใกล้ชิด คือเรียนตัดต่อตัวที่บ้านอาจารย์ ติดตามอาจารย์ไปรักษาผู้ป่วย ได้รู้เห็นวิธีการรักษา ได้รู้เห็นวิธีการรักษา ได้สัมผัสกับผู้ป่วย ฯลฯ จนมีความชำนาญขึ้นเรื่อยๆ อาจารย์หมอชิตจะทดสอบให้ไปรักษาผู้ป่วย และต้องกลับมารายงานให้ฟังทุกครั้งว่าแต่ละรายพบปัญหาอะไรและทำการแก้ไขอย่างไร

อาจารย์ณรงค์สักข์เป็นผู้ที่มีความตั้งใจจริง มีไหวพริบดี มีความอดทนในการเรียนรู้ทุกรูปแบบ แม้วิธีการถ่ายทอดจะเป็นไปด้วยความเข้มงวด ประกอบกับอาจารย์หมอชิตเองก็ไม่มีบุตรชายที่จะรับการถ่ายทอดวิชานี้ อาจารย์หมอชิตจึงรักและเมตตาอาจารย์ณรงค์สักข์เหมือนลูก และตั้งใจถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดให้โดยไม่ปิดปังอำพราง จนเป็นที่ประจักษ์ว่าอาจารย์ว่าอาจารย์ณรงค์สักข์สามารถสืบทอดวิชาการทั้งหมดแทนท่านอาจารย์หมอชิต เดชพันธ์ ได้อย่างแท้จริง

  • ท่านอาจารย์หลางราชรักษา อดีตแพทย์ราชสำนัก
  • ท่านอาจารย์พัว หลายศรีโพธิ์ ลูกศิษย์หลวงรามเดชะ
  • บรมครูมวยไทย และ บรมครูดาบไทย อาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ กล่าวว่าได้นำหลักเกณฑ์และศิลปะของมวยไทย ดาบไทยซึ่งคล้ายคลึงกัน มาดัดแปลงเป็นหลักวิชา เรื่อง สัญญาณ 5 และ มาตราส่วนองศา เพื่อใช้ในการกำหนดตรวจองศากระดูก ตรวจโรคที่เกิดขึ้น และใช้ลีลาในท่านวดรักษาโรค

อาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ ได้นำความรู้ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญจากท่านอาจารย์อื่นๆ มาผสมผสานกับการนวดที่เป็นความรู้เดิมซึ่งสืบทอดมาจากท่านอาจารย์หมอชิต และความรู้จากครูดาบครูมวยไทยได้อย่างเหมาะสม จนสามารถประยุกต์เป็นศาสตร์และศิลป์ในการนวดรักษาโรคเฉพาะตัวของท่านเอง กล่าวคือ มีความชำนาญในการรักษาโรคระบบข้อกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น โดยเฉพาะการผลักกระดูกเคลื่อนให้เข้าที่ ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ระบบประสาท อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ ซึ่งอาจารย์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2535