เพิ่มหัวเรื่อง (750 × 450px)

กัญชงคืออะไร สามารถปลูก ครอบครองและจำหน่ายกัญชงได้หรือไม่เพียงใด?

กัญชงหรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า เฮมพ์ (Hemp) กับกัญชาเป็นพืชตระกูลเดียวกันเปรียบเสมือนเป็นพี่น้องกันแต่จะมีความแตกต่างทางกายภาพ และปริมาณสารสำคัญ โดยกัญชง หรือเฮมพ์ (Hemp) เป็นพืชซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L.subsp. sativa มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือที่เราเรียกว่าสาร THC (สารที่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ทำให้มึนเมา) ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง น้อยกว่ากัญชาจึงทำให้ผู้เสพมีอาการเมาหรือหลอนประสาทน้อยกว่า ผู้เสพจึงนิยมเสพกัญชามากกว่ากัญชง

“กัญชง” และ “กัญชา” จะมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันดังต่อไปนี้

กัญชง – มีลำต้นสูงประมาณ 2 เมตรขึ้นไป สูงใหญ่กว่ากัญชา แตกกิ่งก้านน้อย ใบเป็นสีเขียวอมเหลือง มีแฉกประมาณ 7-9 แฉก แต่กัญชงมีข้อแตกต่างที่ชัดเจนจากกัญชา คือ ชั้นของกิ่งจะสูงชะลูดกว่ากัญชา และถึงแม้ว่ากัญชงจะมีใบเหมือนกัญชาแต่มีสีเขียวเหลืองมากกว่ากัญชา

กัญชา – มีลำต้นมีความสูงไม่ถึง 2 เมตร แตกกิ่งก้านมาก มีใบประมาณ 5-7 แฉก เป็นสีเขียวถึงเขียวจัด มีลักษณะคล้ายใบมันสำปะหลังที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ส่วนของยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้ง แล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ แล้วนำมาสูบ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกัญชง (เฮมพ์) หรือกัญชา กฎหมายยังถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผู้ใดจะผลิต (ปลูก) มีไว้ในครอบครอง จำหน่าย หรือเสพยังเป็นความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย แต่มีข้อยกเว้นดังนี้

  1. กรณีผลิต (ปลูก) จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองกัญชง กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ.2559 อนุญาตให้ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล วิสาหกิจชุมชนสามารถขออนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองได้เพียงแต่การขออนุญาตต้องมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
    1. ปลูก เก็บเกี่ยว แปรสภาพ เพื่อประโยชน์ในครัวเรือน
    2. ปลูก เก็บเกี่ยว แปรสภาพ เพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรม
    3. ปลูก เก็บเกี่ยว แปรสภาพ เพื่อศึกษาวิจัย
    4. ผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกตามวัตถุประสงค์ข้อ (1)-(3)
    5. เพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ลำต้นสด หรือส่วนอื่นๆ
    6. เพื่อใช้ประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยผู้ขออนุญาตต้องยื่นคำขอพร้อมเอกสารประกอบยื่น ณ ท้องที่ที่สถานที่ผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองนั้นตั้งอยู่ ภายหลังที่ได้รับอนุญาตแล้วผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีบัญชีรับจ่ายแผนการผลิต จำหน่าย การใช้ประโยชน์ตามขั้นตอนที่ได้รับอนุญาตและสถานที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย ซึ่งในระยะเวลา 3 ปีแรกนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ (1 มกราคม 2561-31 ธันวาคม 2563) ผู้มีสิทธิขออนุญาต ผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองยังจำกัดเฉพาะหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีการอนุญาตให้ปลูกกัญชงแล้วใน 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก เพชรบูรณ์ และแม่ฮ่องสอน จากบทเฉพาะกาลดังกล่าวประชาชนทั่วไปจึงยังไม่สามารถปลูก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองได้

      แต่หากประชาชนครอบครอง หรือจำหน่าย ส่วนประกอบ สารสกัด หรือผลิตภัณฑ์จากกัญชงที่กฎหมายยกเว้นว่าไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งได้แก่ การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่สกัดมาจากกัญชง, การใช้เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชงหรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชงเพื่อใช้เกี่ยวกับอาหารหรือเครื่องสำอางและต้องเป็นการผลิตในประเทศไทย ส่วนการใช้สารแคนนาบิไดออล (CBD) ที่สกัดจากกัญชง โดยมีปริมาณสาร

      เตเตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.01 โดยน้ำหนัก และการใช้เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง เช่น การทำเสื้อผ้า สิ่งทอ และไม่ว่าจะเป็นการผลิตในหรือนำเข้ามาในประเทศประชาชนผู้นั้นก็ไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษ

  2. กรณีเสพ ขณะนี้ไม่มีกฎหมายฉบับใดอนุญาตให้เสพหรือขออนุญาตเสพกัญชงได้แตกต่างจากกัญชาที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้ป่วยเสพกัญชาเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของแพทย์ได้
  3. กรณีการนำเข้า ส่งออก กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ.2559 ไม่อนุญาตให้ทำได้หากผู้ใดประสงค์จะนำเข้าหรือส่งออกกัญชงต้องทำตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2559 ซึ่งขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้นำเข้าหรือส่งออกกัญชงได้