กดจุดไทย

Thai Acupressure

อะไรคือกดจุดไทย?

กดจุดไทย คือ กรรมวิธีในการใช้องค์ความรู้ ศาสตร์ และศิลป์ บำบัดโรคโดยใช้นิ้ว เป็นมาจากการนวดแบบราชสำนัก ของ อาจารย์ณรงศักดิ์ บุญรัตนหิรัญ ที่ถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น ในโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย ซึ่งสืบทอดจาก หมออินเทวดามหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 หมออินเทวดาได้ถ่ายทอดวิชาการนวดทั้งหมดให้แก่บุตรชาย คือ หมอชิต เดชพันธ์ ซึ่งต่อมาท่านได้ถ่ายทอดให้กับศิษย์หลายท่านและในจำนวนนั้นมี อาจารย์ณรงค์สักข์เป็นศิษย์

การกดจุดไทย เป็นหัตถการที่ช่วย ปรับการเดินชีพจร ชีพจรหมายถึง “เลือดและลม” (ไม่ได้หมายถึงหลอดเลือดทางการแพทย์แผนปัจจุบัน) เมื่อชีพจรเดินไม่ดี หมายความว่าร่างกายมีปัญหา จากทางเดินหรือชีพจร

การกดจุดไทยคือการทำให้ชีพจรเดินได้สะดวก ทางแผนปัจจุบันเทียบได้กับการฟื้นฟูการทำงานของระบบหลอดเลือด ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และระบบอื่นๆ เพื่อให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างสมบูรณ์ผ่านกรรมวิธีการกดจุดในตำแหน่งที่มีความสัมพันธ์กับระบบหลอดเลือด ระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาทและระบบอื่นๆ

กลุ่มอาการในระบบต่างๆ ที่ใช้ศาสตร์กดจุดไทย

  • ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ
  • ภูมิแพ้
  • นอนไม่หลับ
  • ความดันโลหิตสูง
  • ปวดศีรษะไมเกรน
  • อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ข้อเข่าเสื่อม
  • หัวไหล่ติด
  • ปวดท้องประจำเดือน

กดจุดไทย ในทฤษฎีทางการแพทย์แผนไทย

ในทฤษฎีทางการแพทย์แผนไทยร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
อันเป็นองค์ประกอบในสิ่งทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์เองก็ด้วย

แต่ปัจจัยที่ทำให้ธาตุทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลง นั้นเรียกว่า ตรีธาตุ คือ ปิตตะ วาตะ และเสมหะ ทั้งสามนี้เป็นเหตุให้ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นเปลี่ยนแปลง ชาติ จลนะ และภินนะ ล้วนเป็นเหตุอันเกิดมาจากตรีธาตุที่แปรเปลี่ยนตามปัจจัยทั้งหลาย

แนวทางการวินิจฉัยโรค

ในมุมมองการวินิจฉัยโรค ให้ทำความเข้าใจเรื่องสมุฎฐานธาตุและธรรมชาติของร่างกาย การแบ่งตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ได้ 2 ประเภท คือ

  1. ธาตุที่เป็นโครงร่างกายหรือประกอบเป็นร่างกาย คือธาตุ 42 ส่วน ได้แก่ จตุกาลเตโช ฉกาลวาโย ทเวทศอาโป วีสติปถวี
  2. ธาตุที่เป็นเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น(ชาติ) ตั้งอยู่(จลนะ) ดับไป(จลนะ) คือ ตรีธาตุ ได้แก่ วาตะ ปิตตะ เสมหะ

ธาตุ 42 เปรียบเหมือน แผนผังของร่างกาย ให้เรารู้ตำแหน่ง การทำงาน และหน้าที่ของธาตุทั้งหลายในร่างกาย”

ตรีธาตุ เปรียบเหมือน ตัวขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลง ธาตุทั้งหลายในร่างกายให้เป็นไปตามวัฎฎะของธาตุ คือกระทำให้ธาตุเกิดขึ้น ดำรงให้ธาตุมีอยู่ และกระทำให้ธาตุดับไป ด้วยเหตุแห่งการเกิดโรคทั้งหลาย ตรีธาตุ ได้แก่ วาตะ ปิตตะ และเสมหะ”

ในศาสตร์การกดจุดไทย เมื่อผู้ป่วยมีอาการเจ็บ ปวด บริเวณกล้ามเนื้อ เรียกว่า ลมอักเสบ แพทย์ก็ต้องพิจารณาต่อว่าอาการอย่างนี้นั้นเป็น ลมอะไร เกิดที่ไหน เกิดเพราะอะไร แก้อย่างไร เพื่อรักษาผู้ป่วยได้ถูกต้อง

วาตะ

สมุฎฐานวาตะ คือ ที่ตั้งแรกเกิดของโรคอันเกิดจากลม แบ่งออกเป็นสามอย่าง ได้แก่
  • หทัยวาตะ (ลมในหัวใจอันทำให้หัวใจทำงานปกติ) จากจารึกวัดโพธิ์ กล่าวไว้ว่า “ผู้ป่วย มีอาการมึนตึง ไม่ค่อยพูดคุย ใจลอย ชอบอยู่คนเดียว ใจน้อย โกรธง่าย เบื่ออาหาร บางครั้งหัวเราะบางครั้งร้องไห้ ครั้นแก่เข้าเป็นลมบาดทะจิตเป็นอสาทิยโรค”
  • สุมนาวาตะ (ลมในเส้น อันทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย) จากจารึกวัดโพธิ์ กล่าวไว้ว่า “เกิดจากกองลมอัมพฤกษ์ และมักเกิดในระหว่างตรีโทษ ผู้ป่วยจะเสียการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การได้ยิน การมองเห็น การได้กลิ่น การรับรส และการสัมผัส”
  • สัตถกวาตะ (ลมที่ทำให้เกิดอาการเสียดแทงตามส่วนต่างๆของร่างกาย) จากจารึกวัดโพธิ์ กล่าวไว้ว่า “ผู้ป่วย มีอาการเจ็บหน้าอก นายเข้าจะเจ็บแปลบปลาบไปทั่วทั้งตัว เหมือนถูกมีดเชือด และเหล็กแหลมแทง ใจสั่น เมื่อบรรเทาลงจะรู้สึกหิว ไม่มีแรง ปวดหัว ตามัว กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ ถ้ารักษาไม่หายจะกลายเป็น โทสันฑฆาต และตรีสันฑฆาต เป็นอติสัยโรค(โรคตัด)”

ทฤษฎีตก

ทฤษฎีที่กล่าวถึงการที่คนเราถูกกระทบจากเหตุต่างๆ อันเกิดขึ้นตั้งแต่ปฎิสนธิในครรภ์มาจนถึงปัจจุบัน โดยการถูกกระทบเหล่านี้ จำเป็นต้องนับรวมตั้งแต่อุบัติเหตุที่ดูธรรมดาในมุมมองการแพทย์ เช่น หก ล้ม กระแทก แม้จะไม่ได้ถึงกับต้องทำการผ่าตัด หรือนอนโรงพยาบาล แต่เหตุเหล่านี้ล้วนกระทบกับร่างกายของคน

เมื่อพินิจพิจารณาอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง แท้จริงอาจเกิดมาจากอุบัติเหตุที่แสนธรรมดาแต่ขาดการใส่ใจและละเลยไว้เป็นเวลานาน

เหตุแห่งความเจ็บป่วยอันเนื่องมากจากการถูก กระทบ ชอกช้ำ เข้าได้กับตามโบราณว่าในคัมภีร์ต่างๆว่ากล่าวถึง โอปักกะมิกาพาธ หากมองดูคือการเกิดการอักเสบภายในและปล่อยทิ้งไว้ให้เรื้อรัง การอักเสบเช่นนี้ทางการแพทย์แผนไทยมองว่าเป็น
ลมอักเสบที่อั้นคั่งและนอกจากนี้ยังอาจมีโลหิตที่ตกค้าง แห้งภายในติดกระดูกเรียก อาสันทฆาต/โทสันฑฆาต การปล่อยให้โรคดำเนินอย่างนี้ จะเป็นผลเสียต่อระบบและโครงสร้างทั้งหลายในร่างกาย การดำเนินของโรคหรืออาการทื่เกิดจากการถูก กระทบ ชอกช้ำ คั่งค้าง ปลายทางอาจเป็น ตกเลือดค้างภายใน หรือพัฒนาเป็นมะเร็งในที่สุด

กดจุดไทย ในทฤษฎีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

ระบบประสาทของร่างกายแบ่งตามตำแหน่ง หน้าที่ และโครงสร้าง ได้ 2 ระบบ คือ CNS,PNS

  1. ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System : CNS ) คือ ระบบประสาทที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางหรือควบคุมการทำงานของระบบอื่นๆของร่างกาย เช่น ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลายและกระดูก เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม
  2. ระบบประสาทรอบนอก (Peripheral Nervous System : PNS ) ประกอบด้วย
    1. เส้นประสาทสมอง (cranial nerve) 12 คู่ เพื่อรับสัญญาณความรู้สึก และออกคำสั่งควบคุมหน่วยปฏิบัติงานให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้า
    2. เส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerve) เป็นเส้นประสาทที่แยกออกจากไขสันหลัง 31 คู่ เพื่อทำหน้าที่รับ ความรู้สึกและสั่งการไปยังหน่วยปฏิบัติงาน (effectors) เช่น กล้ามเนื้อหรือต่อมต่างๆ

ระบบนำออก (efferent system)

ประกอบด้วยระบบที่นำกระแสประสาทจากระบบประสาทส่วนกลาง ไปยังหน่วยปฏิบัติงาน (effectors) 2 ระบบดังนี้

  1. ระบบประสาทโซมาติก (Somatic Nervous System : SNS)
    ทำหน้าที่ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อเป็นระบบที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ ได้แก่ เส้นประสาทสมองและเส้นประสาทไขสันหลัง (craniospinal nerves) ซึ่งประกอบด้วยเส้นประสาทสมอง (cranial nerves) จำนวน 12 คู่ และเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerves) จำนวน 31 คู่ เช่น การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลาย โดยเซลล์ประสาทรับความรู้สึก จะรับกระแสประสาทจากหน่วยรับความรู้สึกผ่านเส้นประสาทไขสันหลังหรือเส้นประสาทสมองเข้าสู่ไขสันหลังหรือสมอง เพื่อแปลผลและสั่งการ จากนั้นกระแสประสาทจะถูกส่งผ่านเส้นประสาทไขสันหลังหรือเส้นประสาทสมองไปยังหน่วยปฏิบัติงานซึ่งเป็นกล้ามเนื้อลาย อาทิ การเคาะJerk reflex
  2. ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System : ANS)
    ทำหน้าที่ะควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบและการทำงานของต่อมที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ การตอบสนองดังกล่าวเกิดจากการทำงานของระบบประสาทที่อยู่นอกอำนาจจิตใจหรือระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งประกอบด้วย ระบบย่อย 2 ระบบคือ ระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) และระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (parasympatheticnervous system) โดยทั้ง 2 ระบบนี้จะทำงานตรงข้ามกัน

กดจุดไทยทำไมรักษาได้หลายระบบ?

การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ประกอบด้วย หน่วยรับความรู้สึก ซึ่งอาจจะอยู่ที่อวัยวะภายในหรือผิวหนังก็ได้ โดยเซลล์ประสาทรับความรู้สึกจะรับกระแสประสาทผ่านรากหลังของเส้นประสาทไขสันหลัง (dorsal root) เข้าสู่ไขสันหลัง ซึ่งมีเซลล์ประสาทออกไปซิแนปส์กับเซลล์ประสาทสั่งการที่ปมประสาทอัตโนมัติ (autonomic ganglion) โดยเรียกเซลล์ประสาท ที่ออกจากไขสันหลังมาที่ปมประสาทอัตโนมัตินี้ว่าเซลล์ประสาทก่อนซิแนปส์ และเรียกเซลล์ประสาทสั่งการที่ออกจากปมประสาทอัตโนมัตินี้ว่า เซลล์ประสาทหลังซิแนปส์ ซึ่งจะนำกระแสประสาทสั่งงานไปยังกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายในกล้ามเนื้อหัวใจและต่อมต่างๆ”

ศีรษะ

บ่า คอ ไหล่

หลัง

โพก ขา

ท้อง